Legal articles

    

        ขายฝาก
         ขายฝาก คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ถอนทรัพย์นั้นคืนได้ ดังนั้นผู้ขายฝากจึงต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายฝากในขณะทำสัญญาขายฝาก

        กรณีทำสัญญาขายฝากที่ดินในขณะมีสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินนั้น แม้สัญญาขายฝากไม่ได้ระบุถึงสิ่งปลูกสร้างเอาไว้ ก็ถือว่าเป็นการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนั้นด้วย

 

เช่าอสังหาริมทรัพย์    

    เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่า
สามปีขึ้นไป หากไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การเช่านั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีได้เพียงสามปี

หลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด อาจเป็นหลักฐานอะไรก็ได้ที่เป็นหนังสือ และมีข้อความแสดงให้เห็นว่าได้มีการทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น เช่น จดหมาย หรือใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น

   หลักฐานเป็นหนังสือนั้นจะเกิดขึ้นหลังจากการตกลงทำสัญญาเช่าก็ได้ แต่ต้องเกิดขึ้นก่อนการฟ้องร้องบังคับคดี

   สัญญาเช่าต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดานั้น แม้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนนักงานเจ้าหน้าที่ก็ใช้บังคับกันได้ตามข้อตกลง

   สัญญาเช่าต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาไม่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า ดังนั้น แม้ผู้เช่าถึงแก่ความตายสิทธิการเช่าต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าก็ไม่ระงับแต่ตกทอดไปยังทายาท

เช่าช่วง

เช่าช่วง ทรัพย์สินซึ่งเช่านั้น ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนอันมีในทรัพย์สินให้แก่บุคคลภายนอกหาได้ไม่ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่า

   ผู้เช่าจะเอาทรัพย์สินที่เช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงไม่ได้ เพราะสัญญาเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว ผู้ให้เช่าคำนึงถึงคุณสมบัติของผู้เช่า

   

 

    ความผิดเกี่ยวกับการค้า

            ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ    (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา271)

 

 

 

 

   

    ฉ้อโกง

             ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ   (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา341) 

ตัวอย่างฎีกา ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้หลอกลวง ถ้าหากผู้หลอกลวงโดยทุจริตหลอกลวงผู้ถูกหลอกลวงและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
ฎีกาที่ 2062/2558

  

    ฉ้อโกงประชาชน

ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดง ข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา343 วรรคแรก)

      ตัวอย่างฎีกา  การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเห็นได้จากวิธีการหลอกลวง เมื่อจำเลยทั้งสี่กับพวกจัดตั้งระบบอุปกรณ์โทรศัพท์และระบบคอมพิวเตอร์ในรูปสำนักงานเครือข่ายโทรศัพท์ ขึ้นในต่างประเทศ และใช้การสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ด้วยวิธีการสุ่มหมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวก แล้วโทรศัพท์หรือส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อไปยังประชาชนทั่วไป รวมทั้งประชาชนไทยในราชอาณาจักร และแจ้งแก่ผู้ที่ได้รับการติดต่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่าง ๆ ในลักษณะอ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลอกลวงผู้ได้รับการติดต่อว่าผู้นั้นเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือมียอดการใช้เงินในบัญชีสูงผิดปกติ ให้ไปตรวจดูยอดเงินในบัญชี หรือให้ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงรหัสข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคารที่ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงใช้บริการหรือให้ไปดำเนินการใส่รหัสผ่าน หรือรหัสสั่งให้ระงับการทำรายการในบัญชีเงินฝาก บัตรเบิกถอนเงินสดเอทีเอ็มหรือรหัสระงับบัญชีธนาคาร หรือรหัสป้องกันมิให้ข้อมูลรั่วไหล โดยแจ้งว่าเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้อื่นเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของประชาชนผู้ถูกหลอกลวงได้ ซึ่งเป็นการหลอกลวงเหมือนกัน อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะสุ่มได้หมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนคนใดที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวกเพื่อทำการหลอกลวง การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องจึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน

  

    ฉ้อโกงรถ 
       ก.ขายรถจักรยานยนต์ให้ข.ไปแล้วแต่ ข.ยังชำระเงินให้ก.ไม่ครบ ก.จึงเอารถคันนั้นคืนโดยใช้อุบายหลอกลวงว่าขอยืมรถไปเอาทะเบียนรถมาให้ข. แต่กลับไม่เอารถและทะเบียนรถมาให้ข. เช่นนี้กรรมสิทธิ์ของรถโอนไปเป็นของข. แล้วที่ก.เอารถไปได้ก็โดยใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจะเอาทะเบียนรถมาให้ข. เมื่อก.ไม่ได้เอาทะเบียนรถและรถมาให้ข. เห็นได้ว่าข.มิได้มีเจตนามอบการครอบครองรถให้ก. เมื่อก.เอารถไปเป็นของตนจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก แต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง (ฎีกาที่๓๔๕/๒๕๑๖)

    

       ฉ้อโกงบัตรเอ.ที.เอ็ม.

ก.รับอาสาว่าจะนำบัตรบริการเงินด่วนของ ข.ไปตรวจสอบยอดเงินในบัญชีเงินฝาก แต่กลับนำบัตรดังกล่าวไปเบิกถอนเงินจากตู้เอ.ที.เอ็ม.ของธนาคาร เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่า ก.หลอกลวงเอาบริการเงินด่วนของ ข.เพื่อนำไปใช้เบิกถอนเอาเงินจากตู้ เอ.ที.เอ็ม. และการที่ก.ใช้บัตรบริการเงินด่วนของข.ผู้เสียหายเบิกถอนเงินถือได้ว่า เงินที่จะเลยเบิกถอนจากตู้เอ.ที.เอ็ม. เป็นเงินของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง

ผู้ใดทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นขอตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท 

นายก. เผากอหญ้าและกิ่งไม้ใบไม้แห้ง ไฟลามกำลังจะไปไหม้โรงข้าวของนายข.แต่ดับไฟได้ก่อน ถือเป็นการน่ากลัวอันตรายแก่ทรัพย์ ย่อมเป็นความผิด   

 

            ยืม

      ยืมใช้คงรูป เป็นการยืมเพื่อใช้สอยทรัพย์สินสิ่งได้สิ่งหนึ่ง และจะคืนให้ผู้ให้ยืม โดยไม่มีค่าตอบแทน ผู้ยืมมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ทรัพย์สินที่ยืม